- เมื่อเกิดความคิดใดๆ เราย่อมเลือกเป็นได้สองอย่าง หนึ่งคือผู้คิด สองคือผู้เห็นความคิด ผู้คิดก็คือผู้เสวยอารมณ์นั้นๆ เช่น ถ้าเกิดอารมณ์โกรธ เราก็เป็นผู้โกรธ ถ้าเกิดอารมณ์เหงา เราก็เป็นผู้เหงา ส่วนผู้เห็นความคิด คือดึงตนเองออกจากอารมณ์นั้น ไม่กดข่ม ไม่ผลักไส แค่รับรู้อารมณ์อย่างกลางๆ เหมือนว่าอารมณ์นั้นๆ ไม่ใช่ของเรา เรามิได้เป็นผู้รู้สึก แต่เราเป็นผู้เห็นความรู้สึก
- ความรู้สึกใดๆ จะมีอิทธิพลมาก ถ้าเราเป็นผู้รู้สึก แต่จะมีอิทธิพลน้อย ถ้าเราเป็นผู้เห็นความรู้สึก ธรรมชาติของอารมณ์ต่าง ๆ จะขยายใหญ่โต ถ้าเราเข้าไปมีส่วนรวม แต่อารมณ์นั้นๆ จะดับไปเอง หากเราเฝ้ามองเฉยๆ เหมือนมันเขินอายเมื่อถูกเฝ้าดู
- คิดบวก คิดลบ คือเป็นผู้รู้สึก หากต้องการฝึกเห็นความรู้สึก ขอให้ยุติการเข้าควบคุมความคิด ทั้งคิดบวก คิดลบ ต่างมีค่าเสมอกัน เราไม่เข้าไปเป็น เราเพียงแค่เห็น เห็นการทำงานของมันอย่างกลางๆ ที่จริงแล้วทั้งคิดบวก คิดลบ ต่างไม่มีตัวตน มีสภาพเกิดและดับ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป จะเอาแต่คิดบวกอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ หรือนึกเพี้ยน จะเอาแต่คิดลบอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้ วงจรของความคิด ทำงานสลับไปมา คิดบวก คิดลบ มิใช่สิ่งเที่ยงแท้ถาวร
- ระหว่างวัน จับลมหายใจเบาๆ หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้ ทำอย่างนี้ได้ ใจจะเกิดความสงบเย็น แต่ให้รู้ไว้ว่า เราอยู่กับลมหายใจ มิใช่ต้องการความสงบ เพียงต้องการความเย็นใจเล็กน้อย เพื่อสังเกตบางสิ่ง เมื่อพาจิตมารู้ลม รู้ได้ไม่นาน จิตย่อมไหลไปคิด บางครั้งอยู่กับลมได้ บางครั้งก็ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คิดก็ให้รู้ว่าคิด สงบก็ให้รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็ทำเช่นเดียวกัน คือรู้ลงไป รู้แบบเบาๆ ไม่ต้องตั้งใจนัก รู้เล็กๆ รู้อย่างไม่มีความโลภที่จะรู้ อย่างนี้ถือว่าใช้ได้
- เราฝึกความรู้เท่าทันตนเอง ผ่านการรู้สึกตัวได้ตลอดเวลา และในทุกสถานการณ์ เพราะความคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา ความรู้สึกตัวนี้ เราจะรู้กายเคลื่อนไหวก็ได้ เราจะรู้ใจเคลื่อนไหวก็ได้ หรือเราจะรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ของสิ่งรอบข้างก็ได้ เมื่อเห็นความเคลื่อนไหวของรูป นาม ทั้งภายนอกภายใน เห็นบ่อยๆ ใจจะเกิดความเข้าใจในสิ่งสำคัญ สิ่งนั้นว่าด้วยความไม่เที่ยง อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงทั้งนั้น อะไรๆ ก็ยึดไว้ไม่ได้เลย
- การอบรมจิตใจผ่านการภาวนานี้ ไม่ใช่ความคิดนึก ความคิดนึกเป็นอย่างหนึ่ง การภาวนาเพื่อสอนจิตเป็นอย่างอย่างหนึ่ง เราอาจพูดให้ง่ายขึ้นว่า การสอนสมอง กับการสอนจิต เราสอนสมองด้วยการอ่านหนังสือ การจำ การคิดวิเคราะห์ เช่น นั่งทำความเข้าใจว่า อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน อย่างนี้คือการสอนสมอง คือการทำความเข้าใจแบบภาษา แต่การทำความเข้าใจเช่นนี้ให้ผลน้อย เพราะที่จริงเรารู้อยู่แล้วว่าอะไรๆ ก็ไม่ควรยึดไว้ รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่รู้แล้วก็ทำไม่ได้ เพราะจิตมันไม่เอาด้วย เช่นนี้เขาจึงต้องฝึกจิต ฝึกด้วยกระบวนการบางสิ่งซึ่งพาจิตไปเห็นความจริงข้อนี้ได้ จิตรับรู้ลมหายใจ จิตจะเห็นความคิดที่เคลื่อนผ่าน จิตเห็นการเกิดดับของความคิดบ่อยๆ ความยึดมั่นถือมั่นของบุคคลนั้นๆ ย่อมคลายลงโดยธรรมชาติ
- หิวให้รู้ว่าหิว อย่าไปเป็นผู้หิว เบื่อให้รู้ว่าเบื่อ อย่าไปเป็นผู้เบื่อ ชอบให้รู้ว่าชอบ อย่าไปเป็นผู้ชอบ อย่าจมลงในความรู้สึก เราจะไม่ดึงความรู้สึกเข้าตัว หรือผลักออกไป แต่เราจะรับรู้อย่างกลาง ๆ ทั้งอารมณ์ด้านบวก ด้านลบ ช่วงแรกๆ จะทำได้ยาก เพราะเราชินกับการเป็นผู้รู้สึก ไม่ชินกับการเป็นผู้เห็นความรู้สึก แต่ไม่เป็นไร ค่อยๆเปลี่ยนสัญชาติญาณใหม่ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของบุญบารมี ทว่าเป็นเรื่องของชั่วโมงบินในการฝึกฝน ทุกคนทำได้ ถ้าให้ความสำคัญมากพอ
- ในเวลางาน เอาใจอยู่กับงาน ไม่จำเป็นต้องรู้สึกตัวตลอดเวลา ในเวลารับฟังเรื่องราวที่ต้องใช้สมาธิ ให้รับรู้ในความตั้งใจของตนที่กำลังมีสมาธิ เคล็ดลับสำคัญของการสร้างความรู้สึกตัวมิใช่อะไรอื่น เป็นการเร้าสติ ใช้สติแยกตนออกจากกลุ่มก้อนอารมณ์ อารมณ์เกิดผ่านตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส สู่ความจำ เกิดเป็นความรู้สึก อารมณ์ร่วม ธรรมชาติของอารมณ์ความรู้สึก หากมันไม่ถูกเห็น มันย่อมเข้าครอบงำเราเป็นปกติ เมื่อจิตเข้าไปงับอารมณ์แล้ว อารมณ์นั้นย่อมขยายใหญ่มากขึ้น จากไม่ชอบเป็นโกรธ จากโกรธเป็นเกลียด เป็นอาฆาต เป็นพยาบาท ทั้งด้านดี ด้านร้าย ต่างเป็นไปในลักษณะเช่นนี้เสมอกัน
- ความสุข และความทุกข์คือเหรียญสองด้าน เป็นสิ่งซึ่งสะท้อนกันและกัน การฝึกเท่าทันตนเอง จึงต้องฝึกเห็นทั้งสุขและทุกข์ หากเราเอาจิตเข้าแช่อารมณ์สุข จิตย่อมจดจำ และแช่อยู่ในอารมณ์ทุกข์ด้วย จิตนั้นไม่เลือกสุขเลือกทุกข์ การฝึกฝนจึงต้องละทั้งสองสิ่ง ไม่เอาทั้งทุกข์ และไม่เอาทั้งสุข คำว่าไม่เอานี้มิใช่การปฏิเสธ แต่คือการเห็นอย่างเป็นกลาง ไม่ให้ค่า ไม่ให้ราคาทั้งสุขและทุกข์ ใจจึงตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กายผสานอารมณ์ ความรู้สึกเช่นนี้คือความเบิกบาน เบิกบานมิใช่การเสวยอารมณ์ แต่เป็นการตระหนักชัด ตั้งอยู่บนความรู้ตัวทั่วพร้อม
- แท้จริงแล้วความคิดคือตัวตนของปัญหา การแก้ปัญหาความคิดด้วยความคิดจึงเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องลอยตัวอยู่เหนือความคิดของตนเอง พ้นไปจากความคิด สภาวะเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้หากมีการฝึกฝนอยู่เป็นประจำ ทุกคนทำได้ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์เกินจริง เพราะนี่คือวาสนาที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่น สมบัติล้ำค่าของมนุษย์คือสติ
มิใช่สติที่ใช้ในการฉุกคิด ทว่าคือสติที่ใช้แยกกาย ความคิด และจิตออกจากกัน
ผู้ใดเห็นการทำงานของความคิด ผู้นั้นย่อมเห็นการทำงานของอัตตาตัวตน
อัตตาเกิดไม่ได้ผ่านความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้เองที่เป็นทั้งจุดเริ่มต้น
ระหว่างทาง และจุดหมายปลายทางของมนุษยชาติ เราเกิดมาเพื่อรู้สึกตัวทั่วพร้อม
รู้สึกตัวทั่วพร้อมเพื่อตื่นจากตัวตน
แม้ชีวิตนี้ยังไม่รู้สึกตัว ก็อาจมีสักชีวิตหนึ่งที่เรารู้สึกตัว
ความรู้สึกตัวคือของขวัญล้ำค่าที่เราทุกคนมีอยู่แล้ว
เพียงแต่ ใครจะแกะของขวัญชิ้นนี้ หรือทิ้งมันไว้ในห้องใต้ถุนบ้านเท่านั้นเอง.